ความเป็นมาของโครงการ


โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา หรือทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข M6 เป็นหนึ่งโครงการสําคัญที่มีความจําเป็นเร่งด่วน โดยได้รับการบรรจุในแผนมาตรการเร่งรัดการลงทุน Action Plan ของกระทรวงคมนาคม และมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) ของกระทรวงการคลัง เพื่อเร่งรัดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ปัจจุบันกรมทางหลวงอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างงานโยธาซึ่งแบ่งออกเป็น 40 สัญญา เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด สำหรับการก่อสร้างงานระบบ การดำเนินงานและการบำรุงรักษาภายหลังจากโครงการเปิดให้บริการ คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 อนุมัติให้กรมทางหลวงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนและบริหารจัดการ ในรูปแบบ PPP Gross Cost ซึ่งเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานระบบและจัดเก็บรายได้ทั้งหมดส่งมอบให้แก่ภาครัฐ โดยภาคเอกชนจะได้รับค่าจ้างตอบแทนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา พร้อมทั้งจ่ายคืนค่าก่อสร้างงานระบบตามกรอบระยะเวลาและเงื่อนไขที่กำหนด

รายละเอียดโครงการ ประกอบด้วย


1. แนวเส้นทาง

แนวเส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา มีระยะทางรวมประมาณ 196 กิโลเมตร โดยออกแบบให้มีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และไปสิ้นสุดที่บริเวณทางเลี่ยงเมืองจังหวัดนครราชสีมาด้านตะวันตก อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
ตลอดแนวเส้นทางจะมีทางแยกต่างระดับ (Interchange) เพื่อเชื่อมต่อกับโครงการกับทางหลวงสายสําคัญๆ มีทั้งหมด 10 แห่ง ได้แก่
1) ทางแยกต่างระดับบางปะอิน 1
2) ทางแยกต่างระดับบางปะอิน 2
3) ทางแยกต่างระดับวังน้อย
4) ทางแยกต่างระดับหินกอง
5) ทางแยกต่างระดับสระบุรี
6) ทางแยกต่างระดับแก่งคอย
7) ทางแยกต่างระดับมวกเหล็ก
8) ทางแยกต่างระดับปากช่อง
9) ทางแยกต่างระดับสีคิ้ว
10) ทางแยกต่างระดับนครราชสีมา
พร้อมด่านเก็บค่าผ่านทางจำนวน 9 แห่ง ได้แก่
1) ด่านบางปะอิน
2) ด่านวังน้อย
3) ด่านหินกอง
4) ด่านสระบุรี
5) ด่านแก่งคอย
6) ด่านมวกเหล็ก
7) ด่านปากช่อง
8) ด่านสีคิ้ว
9) ด่านขามทะเลสอ
และจัดให้มีที่พักริมทาง (Rest Area) และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับผู้ใช้ทาง จำนวน 8 แห่ง ตลอดแนวเส้นทางโครงการ โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1) จุดพักรถ (Rest Stop) 5 แห่ง
- วังน้อย
- หนองแค
- ทับกวาง
- ลำตะคอง
- ขามทะเลสอ
2) สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) จำนวน 2 แห่ง
- สระบุรี
- สีคิ้ว
3) ศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) 1 แห่ง
- ปากช่อง
** การลงทุนและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) ไม่ได้รวมอยู่ในการ่วมทุน PPP ส่วนงาน O&M

2. รูปแบบการก่อสร้าง

เป็นการก่อสร้างทางแนวใหม่ตามมาตรฐานทางหลวงพิเศษ ขนาด 4-6 ช่องจราจร ออกแบบให้ใช้ผิวทางคอนกรีตที่มีความคงทนและมีการซ่อมบำรุงน้อย เขตทางทั่วไปกว้างประมาณ 70 เมตร (บริเวณที่มีการออกแบบทางบริการจะเพิ่มความกว้างเขตทางออกไปด้านละ 20 เมตร) มีความกว้างช่องจราจร 3.60 เมตร ความกว้างของไหล่ทางด้านใน 1.50 เมตร และความกว้างของไหล่ทางด้านนอก 3.00 เมตร ตามรายละเอียดดังนี้
- ช่วง อ.บางปะอิน - อ.ปากช่อง (กม.0+000 – กม.109+500) ออกแบบเป็นทางหลวงพิเศษบนดินขนาด 6 ช่องจราจร
- ช่วง อ.ปากช่อง-อ.เมืองนครราชสีมา (กม.109+500 – กม.+196+000) ออกแบบเป็นทางหลวงพิเศษบนดินขนาด 4 ช่องจราจร
โดยตลอดสายทางได้ออกแบบให้มีทางลอดและทางข้ามเพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนในพื้นที่ และจากความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ได้ออกแบบให้มีช่วงทางยกระดับขนาดใหญ่ดังนี้
- ทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ช่วง กม.40-กม.47 บริเวณทางเลี่ยงเมืองสระบุรี
- ทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ช่วง กม.69-กม.75 บริเวณโรงปูนซีเมนต์ทีพีไอ
- ทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ช่วง กม.82-กม.84 บริเวณองค์การส่งเสริมกิจการโคนม
- ทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ช่วง กม.125-กม.143 บริเวณลำตะคอง

3. การจัดเก็บค่าผ่านทาง

การจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง กรมทางหลวงได้กำหนดให้จัดเก็บค่าผ่านทางแบบระบบปิด (Closed System) ซึ่งคิดค่าธรรมเนียมตามระยะทางที่ใช้จริง โดยกรมทางหลวงจะกำหนดให้มีวิธีการจัดเก็บค่าผ่านทางทั้งแบบเงินสด (Manual Toll Collection : MTC) แบบอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection : ETC ) และแบบ Multi-lane free flow (M-Flow)

ได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมผ่านทางที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน โดยพิจารณาจากการวิเคราะห์รายได้ค่าผ่านทางที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ในอนาคต และอัตราผลตอบแทน ทางเศรษฐกิจของโครงการ สรุปอัตราค่าผ่านทางได้ ดังนี้
ประเภทรถ อัตราค่าผ่านทาง
(อัตราแรกเข้า + อัตราคิดตามระยะทาง)
รถยนต์ 4 ล้อ 10 บาท + 1.25 บาท/กม.
รถยนต์ 6 ล้อ 16 บาท + 2.00 บาท/กม.
รถยนต์มากกว่า 6 ล้อ 23 บาท + 2.88 บาท/กม.

4. ระบบการบริหารจัดการ

เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยในการเดินทางของผู้ใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดให้มีระบบต่างๆ ดังนี้

1) ระบบควบคุมการจราจร (Traffic Control Surveillance System)

เป็นระบบที่จะช่วยลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุของผู้ใช้ทาง และช่วยอำนวยการจราจรให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยระบบประกอบด้วยห้องควบคุมกลาง เพื่อเชื่อมโยงสั่งการไปยังเครื่องมืออุปกรณ์อำนวยการจราจรต่างๆ ตลอดสายทาง ประกอบด้วย
ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด

ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (Close Circuit Television System, CCTV)

สำหรับการตรวจตราสภาพการจราจรบนทางพิเศษ
ระบบโทรศัพท์ฉุกเฉิน (Emergency Telephone System, ETS)

ระบบโทรศัพท์ฉุกเฉิน (Emergency Telephone System, ETS)

เพื่อรองรับการติดต่อสื่อสารของผู้ใช้ทางกับเจ้าหน้าที่ ควบคุมการจราจร ในกรณีที่ผู้ใช้ทางต้องการความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่
ระบบโทรศัพท์ (IP Phone)

ระบบโทรศัพท์ (IP Phone)

เป็นระบบโทรศัพท์รองรับการสื่อสารระหว่างด่านเก็บเงิน
ระบบป้ายปรับเปลี่ยนข้อความ (Variable Messenger Sign, VMS)

ระบบป้ายปรับเปลี่ยนข้อความ (Variable Message Sign, VMS)

ใช้บอกและแสดงข้อมูลต่างๆ เพื่อแนะนำและเตือนผู้ใช้ทาง
ระบบป้ายสัญญาณปรับได้ (Matrix Sign, MS)

ระบบป้ายสัญญาณปรับได้ (Matrix Sign, MS)

ใช้แสดงสัญญาณลักษณะและเครื่องหมายจราจรที่เปลี่ยนแปลงได้
ระบบนาฬิกามาตรฐาน (Clock System)

ระบบนาฬิกามาตรฐาน (Clock System)

เป็นเวลามาตรฐานเพื่อใช้เปรียบเทียบเวลาที่แม่นยำและเที่ยงตรงของระบบเก็บค่าผ่านทางและระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ระบบวิทยุสื่อสาร (Radio Communication)

ระบบวิทยุสื่อสาร (Radio Communication)

ใช้เป็นตัวรับ-ส่งสัญญาณสำหรับการติดตั้งสื่อสารต่างๆ ให้ครอบคลุมพื้นที่โครงการ
ระบบตรวจนับจำนวนยานพาหนะ (Vehicle Detector System, VDS)

ระบบตรวจนับจำนวนยานพาหนะ (Vehicle Detector System, VDS)

โดยติดตั้งทุกช่องจราจร เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์สภาพจราจร
ระบบสื่อสารข้อมูล (Graphic Display Panel)

ระบบสื่อสารข้อมูล (Graphic Display Panel)

ทำหน้าที่รับ-ส่ง ข้อมูลของระบบการควบคุมการจราจร และระบบจัดเก็บค่าผ่านทางมายังศูนย์ควบคุม
ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมจราจร (Central Computer System, CCS)

ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมจราจร (Central Computer System, CCS)

มีหน้าที่หลักในการจัดการข้อมูลรวมที่ศูนย์ควบคุม (CCB)
ระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูล (Communication Network System)

ระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูล (Communication Network System)

เป็นระบบสื่อสารหลัก (Backbone) มีหน้าที่หลักในการรับ-ส่งข้อมูล ผ่านโครงข่ายไฟเบอร์ออพติก

2) ระบบชั่งน้ำหนัก

ระบบชั่งน้ำหนักบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง เพื่อคัดกรองรถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ที่อาจทำความเสียหายต่อโครงสร้างทาง ซึ่งระบบประกอบด้วย ระบบเครื่องชั่งแบบเคลื่อนที่ (Dynamic หรือ Weighing in Motion System, WIM) และแบบจอดชั่ง (Static Weighbridge) โดยลักษณะการทำงาน รถบรรทุกจะแล่นผ่านสถานีแบบเคลื่อน (WIM) ก่อน ถ้าน้ำหนักไม่เกินกำหนดก็สามารถวิ่งเข้าใช้ทางพิเศษได้ ส่วนรถที่มีน้ำหนักเกินจะต้องเข้าชั่งน้ำหนักอีกครั้งหนึ่งที่สถานีแบบจอดชั่ง (Static Weighbridge, SWB) เพื่อตรวจสอบน้ำหนักที่มีผลถูกต้องแม่นยำ

3) ระบบกู้ภัย

โครงการได้ออกแบบให้มีระบบกู้ภัยตลอดสายทาง เพื่ออำนวยความปลอดภัย และช่วยเหลือผู้ใช้ทางในยามฉุกเฉิน ให้สามารถเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุภายในช่วงระยะเวลาที่กำหนด
ภาพตัวอย่างงานระบบกู้ภัย

5. ที่พักริมทาง (Rest Area)

6. มาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน

เนื่องจากเป็นการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่และมีผลกระทบต่อประชนในวงกว้าง กรมทางหลวงได้ดำเนินการออกแบบสายทางเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อม โดยรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2549 แต่เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาสภาพแวดล้อมในพื้นที่โครงการได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนั้น ในปี พ.ศ.2559 กรมทางหลวงจึงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ให้ดำเนินการทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา เพื่อทบทวนรายละเอียดโครงการในส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญไปจากรายงาน EIA เดิม โดยผลการศึกษาดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว ในปี พ.ศ. 2560

สถานะโครงการ


สถานะการดำเนินงานของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา มีรายละเอียดดังนี้
1) สัญญาก่อสร้างงานโยธา : แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 40 สัญญา ปัจจุบันลงนามสัญญาก่อสร้างครบถ้วนแล้ว โดยมีความก้าวหน้าของงานก่อสร้างโยธาแล้วประมาณ 97% (ข้อมูล ณ ตุลาคม 2565)

2) การให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างงานระบบ พร้อมดำเนินงานและบำรุงรักษา : คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ปัจจุบันลงนามในสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) แล้ว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างงานระบบ
3) การให้เอกชนร่วมลงทุนและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) : ปัจจุบันคณะกรรมการนโยบาย PPP ให้ความเห็นชอบรูปแบบการดำเนินโครงการร่วมลงทุนแล้ว และคาดสามารถเริ่มการหาตัวเอกชนร่วมลงทุนได้ในปี 2565-2566 และเปิดให้บริการพร้อมโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง