ความเป็นมาของโครงการ


โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 สายนครปฐม – ปากท่อ – ชะอำ หรือ (M8) เป็นหนึ่งโครงการสําคัญที่มีความจําเป็นเร่งด่วน โดยได้รับการบรรจุ ในแผนมาตรการเร่งรัดการลงทุน Action Plan ของกระทรวงคมนาคม และมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) ของกระทรวงการคลัง เพื่อเร่งรัดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

รายละเอียดโครงการ ประกอบด้วย


1. แนวเส้นทาง

แนวเส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม – ปากท่อ – ชะอำ (M8) มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) ที่บริเวณทางแยกต่างระดับนครชัยศรี อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และมีจุดสิ้นสุดโครงการเชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 บริเวณ กม. 188 อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี รวมระยะทางประมาณ 109 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางประกอบด้วยด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางจำนวน 9 แห่ง ได้แก่
1) ด่านนครชัยศรี
2) ด่านตลาดจินดา
3) ด่านบางแพ
4) ด่านราชบุรี
5) ด่านวัดเพลง
6) ด่านปากท่อ 1
7) ด่านปากท่อ 2
8) ด่านเขาย้อย
9) ด่านท่ายาง

2. ที่พักริมทาง (Rest Area)

โครงการประกอบด้วยที่พักริมทาง (Rest Area) และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับผู้ใช้ทาง จำนวน 5 แห่ง โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1) จุดพักรถ (Rest Stop) 2 แห่ง
- อำเภอบางแพ
- อำเภอเขาย้อย
2) สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) จำนวน 2 แห่ง
- อำเภอนครชัยศรี
- อำเภอบ้านลาด
3) ศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) 1 แห่ง
- ราชบุรี

3. รูปแบบการก่อสร้าง

เป็นการก่อสร้างทางแนวใหม่ตามมาตรฐานทางหลวงพิเศษ ระยะทาง 109 กม. จำนวน 4 ช่องจราจรประกอบด้วย
โดยมีรูปแบบของถนนระดับพื้น ดังนี้
1) ช่องสายทางที่ไม่มีทางบริการ เขตทางกว้าง 80 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร ความกว้างช่องละ 3.60 เมตร ไหล่ทางด้านอก 3.00 เมตร ไหล่ทางด้านใน 1.00 เมตร เกาะกลางแบบ Depressed Median
2) ช่องสายทางที่มีทางบริการ เขตทางกว้าง 120 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร ความกว้างช่องละ 3.60 เมตร ไหล่ทางด้านอก 3.00 เมตร ไหล่ทางด้านใน 1.00 เมตร เกาะกลางแบบ Depressed Median

ประกอบกับออกแบบให้มีรูปแบบของถนนโครงสร้างยกระดับและสะพานต่าง ๆ สำหรับเป็นทางสัญจรหลักของโครงการในส่วนที่ตัดข้ามถนนท้องถิ่น ลำน้ำ และบริเวณพื้นที่ดินอ่อน โดยกำหนดความกว้างเขตทางตามที่จำเป็น เพื่อลดผลกระทบด้านการเวนคืนที่ดิน

4. การจัดเก็บค่าผ่านทาง

การจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง กรมทางหลวงได้กำหนดให้จัดเก็บค่าผ่านทางแบบระบบปิด (Closed System) ซึ่งคิดค่าธรรมเนียมตามระยะทางที่ใช้จริง โดยกรมทางหลวงจะกำหนดให้มีวิธีการจัดเก็บค่าผ่านทางทั้งแบบเงินสด (Manual Toll Collection : MTC) และแบบอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection : ETC ) ซึ่งสามารถพัฒนาสู่ระบบ Multi-lane free flow (M-Flow)

5. ระบบการบริหารจัดการ

เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยในการเดินทางของผู้ใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดให้มีระบบต่าง ๆ ดังนี้

1) ระบบควบคุมการจราจร (Traffic Control Surveillance System)

เป็นระบบที่จะช่วยลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุของผู้ใช้ทาง และช่วยอำนวยการจราจรให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยระบบประกอบด้วยห้องควบคุมกลาง เพื่อเชื่อมโยงสั่งการไปยังเครื่องมืออุปกรณ์อำนวยการจราจรต่าง ๆ ตลอดสายทาง ประกอบด้วย

2) ระบบชั่งน้ำหนัก

ระบบชั่งน้ำหนักบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง เพื่อคัดกรองรถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ที่อาจทำความเสียหายต่อโครงสร้างทาง ซึ่งระบบประกอบด้วย ระบบเครื่องชั่งแบบเคลื่อนที่ (Dynamic หรือ Weighing in Motion System, WIM) และแบบจอดชั่ง (Static Weighbridge) โดยลักษณะการทำงาน รถบรรทุกจะแล่นผ่านสถานีแบบเคลื่อน (WIM) ก่อน ถ้าน้ำหนักไม่เกินกำหนดก็สามารถวิ่งเข้าใช้ทางพิเศษได้ ส่วนรถที่มีน้ำหนักเกินจะต้องเข้าชั่งน้ำหนักอีกครั้งหนึ่งที่สถานีแบบจอดชั่ง (Static Weighbridge, SWB) เพื่อตรวจสอบน้ำหนักที่มีผลถูกต้องแม่นยำ

3) ระบบกู้ภัย

โครงการได้ออกแบบให้มีระบบกู้ภัยตลอดสายทาง เพื่ออำนวยความปลอดภัย และช่วยเหลือผู้ใช้ทางในยามฉุกเฉิน ให้สามารถเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุภายในช่วงระยะเวลาที่กำหนด
ภาพตัวอย่างงานระบบกู้ภัย

6. มาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน

การศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Feasibility Study) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม – ปากท่อ – ชะอำ ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี 2552 และได้ผ่านความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อปี 2555 ซึ่งกรมทางหลวงอยู่ระหว่างการดำเนินงานจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ให้เป็นปัจจุบัน

สถานะและแผนการดำเนินโครงการ


สถานะการดำเนินงานของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม – ปากท่อ – ชะอำ มีรายละเอียดดังนี้
1) คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการนโยบาย PPP) อนุมัติเห็นชอบให้ดำเนินงานโครงการฯ ในรูปแบบทางหลวงสัมปทาน ด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost ทั้งโครงการ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2561
2) รายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อปี 2555 โดยปัจจุบันดำเนินการปรับปรุงรายงานฯ แล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม
3) การสำรวจที่ดินและทรัพย์สินที่เวนคืนได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างเตรียมออก พ.ร.ฎ. เวนคืนฯ (ทั้งนี้ต้องขอออก พ.ร.ฎ. เวนคืนฯ ภายหลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินโครงการ) คาดว่าจะเริ่มจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ภายในปี 2566 - 2567
4) ปัจจุบันกรมทางหลวงศึกษาทบทวนรูปแบบและขอบเขตการให้เอกชนร่วมลงทุน ตามมติคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐแล้วเสร็จ โดยจะพิจารณาดำเนินการช่วงนครปฐม – ปากท่อ ก่อน